หน้าเว็บ

ใบความรู้ โคลงสุภาษิต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์
            โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ หมายถึง สุภาษิตที่จำแนกเนื้อความเป็น ๑๖ หมวด หมวดละ ๓ ข้อ รวมเป็น ๔๘ ข้อ   เดิมนั้นเป็นสุภาษิตภาษาอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร กวีในราชสำนักแปลและประพันธ์เป็นภาษาไทย
            โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ เป็นโคลงสี่สุภาพ ๑๘ บท ซึ่งมีบทนำ ๑ บท  เนื้อเรื่อง ๑๖ บท และบทสรุป ๑ บท โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรวจแก้และทรงพระราชนิพนธ์โคลงบทนำ และโปรดให้ คุณหญิง เปลี่ยน ภาสกรวงศ์ นำโคลงไปปักเป็นตัวอักษรใส่กรอบกระจก ประดับบนพระที่นั่งทรงธรรมในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จุลศักราช ๑๒๔๖
            ภายหลังได้รวบรวมพิมพ์ไว้ ในหนังสือประชุมโคลงสุภาษิต ในรัชกาล ที่ ๕ ในงานศตมวารพระศพสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๖
            โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ มีจุดประสงค์ในการแต่งเพื่อ ต้องการจะอธิบายสุภาษิตที่เกี่ยวกับนามธรรม ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนทุกฐานะ ทุกอาชีพ ได้นำไปเป็นเครื่องโน้มนำให้ประพฤติชอบอย่างผู้มีสติ และมีความปลอดโปร่งในชีวิต
สาระสำคัญของโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์
๑.สามสิ่งควรรัก ได้แก่ ความกล้า ความสุภาพ และความรักใคร่
๒. สามสิ่งควรชม ได้แก่ อำนาจปัญญา เกียรติยศ และมีมารยาทดี
๓. สามสิ่งควรเกลียด ได้แก่ ความดุร้าย ความหยิ่งกำเริบ และอกตัญญู
๔. สามสิ่งควรรังเกียจติเตียน ได้แก่ ชั่วเลวทราม มารยา และฤษยา
๕. สามสิ่งควรเคารพ ได้แก่ ศาสนา ยุติธรรม และสละประโยชน์ตนเอง
๖. สามสิ่งควรยินดี ได้แก่ การเป็นผู้มีความงาม มีความสัตย์ซื่อ และความอิสระเสรี
๗. สามสิ่งควรปรารถนา ได้แก่ ความสุขสบาย การมีมิตรสหายที่ดี และมีความสบายใจ
๘. สามสิ่งควรอ้อนวอนขอ ได้แก่ ความเชื่อถือ ความสงบ และจิตใจที่ไม่ขุ่นหมอง
๙. สามสิ่งควรนับถือ ได้แก่ การเป็นผู้มีปัญญา มีความฉลาด และมีความมั่นคงไม่โลเล
๑๐. สามสิ่งควรจะชอบ ได้แก่ ความมีใจอารีสุจริต ใจดีไม่เคืองขุ่น และ      มีความสนุกเบิกบาน
๑๑. สามสิ่งควรสงสัย ได้แก่ คำยกยอ พวกปากไม่ตรงกับใจ และ พวกใจโลเลพูดกลับคำไปมา
๑๒. สามสิ่งควรละ ได้แก่ ความเกียจคร้าน การพูดจาไม่น่าเชื่อถือ และการใช้คำเสียดสีผู้อื่น
๑๓. สามสิ่งควรจะกระทำให้มี ได้แก่ หนังสือดีเพื่อนที่ดี และ ความเป็นคนใจเย็น
๑๔. สามสิ่งควรจะหวงแหนฤๅต่อสู้เพื่อรักษา ได้แก่ ชื่อเสียงเกียรติยศประเทศชาติบ้านเมือง และเพื่อนที่ดี
๑๕. สามสิ่งควรครองไว้ ได้แก่ กิริยาอาการ ความมักง่าย และคำพูด
๑๖. สามสิ่งควรจะเตรียมเผื่อ ได้แก่ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความแก่ชรา และความตาย
บทสรุป  จบทั้ง ๑๖ หมวด หมวดละ ๓ ข้อ รวมเป็น ๔๘ ข้อ ที่ได้ระบุไว้ครบถ้วนแล้ว
ข้อคิดจากเรื่อง
. ผู้ที่ประสบความสำเร็จมักมีหลักธรรมประจำใจเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
. โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ให้ข้อแนะนำที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของตัวเราเอง มิตรสหายชาติบ้านเมือง จนถึงสัจธรรมชีวิต

โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ
ความหมายของชื่อเรื่อง   โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ
นฤ แปลว่า ไม่
ทุมน แปลว่า เสียใจ
อาการ แปลว่า สภาพกิริยา
นฤทุมนาการ หมายถึง อาการ ๑๐ ประการที่ผู้ประพฤติตามยังไม่เคยเสียใจ
ผู้ทรงนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฉันทลักษณ์ แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๑๐ บท  บทนำ ๑ บท   เนื้อเรื่อง ๑๐ บท  บทสรุป ๑ บท
             โคลงสุภาษิตทั้ง ๑๐ บท เป็นข้อแนะนำทั้งทางด้านมโนกรรม(การคิด)  วจีกรรม(การพูด) และ
กายกรรม (การกระทำ)
            โคลงบทนำ ผู้รู้กล่าวถึง ๑๐ ประการ ที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ เพราะเป็นความประพฤติดีในไตรทวาร  (กาย วาจา ใจ ) อันจะยังให้เกิดผลดีแก่ผู้ประพฤติเองและต่อสังคมส่วนรวม อันได้แก่     
๑. เพราะความดีทั่วไป
                การทำความดีนั้นไม่ควรเลือกกระทำกับผู้ใดผู้หนึ่ง ควรทำกับคนทั่วๆไป และทำความดีเพิ่มขึ้นด้วยความชอบธรรม จะได้ไม่มีศัตรูคิดร้าย จะมีก็แต่ผู้ยกย่องเชิดชู        
๒. เพราะไม่พูดร้ายต่อใครเลย
                การอยู่ห่างไกลความหลงและความริษยาไม่พูดจากล่าวเท็จให้ร้ายผู้อื่น ไม่พูดอาฆาตใคร และไม่พูดนินทากล่าวโทษผู้ใด                              
๓. เพราะถามฟังความก่อนตัดสิน
                การได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวใดๆ มาไม่ควรจะเชื่อในทันที ต้องสอบสวนทวนความ คิดใคร่ครวญให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ    

                         
๔. เพราะคิดเสียก่อนจึงพูด
                ก่อนที่จะพูดสิ่งใดให้ตั้งสติให้รอบครอบก่อน เพราะการพูดดีก็เหมือนกับการเขียนที่มีการเรียบเรียงไว้แล้ว ทำให้เวลาฟังเกิดความไพเราะเสนาะหู และไม่เป็นภัยตัวผู้พูดด้วย
๕. เพราะอดพูดในเวลาโกรธ
                การรู้จักหักห้ามตนเองไม่ให้พูดในขณะที่ยังโกรธอยู่โดยให้หยุดคิดพิจารณาว่าพูดแล้วจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะ หรือพูดไปแล้วจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด หากไม่รู้จักยับยั้งแล้วละก็อาจทำให้เสียหายได้
๖. เพราะได้กรุณาต่อคนที่ถึงอับจน
                การมีความเมตตากรุณาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบภัย ทำให้เขารอดพ้นจากความทุกข์ยาก ผลที่ได้รับคือผู้คนจะพากันสรรเสริญทั้งในปัจจุบันแล้วอนาคต              
๗. เพราะขอโทษบรรดาที่ได้ผิด
                เมื่อกระทำการสิ่งใดผิดพลาดแล้ว ก็ควรลดความอวดดีลง และรู้จักกล่าวโทษเพื่อลดความบาดหมางลง ดีกว่าคิดหาทางแก้ด้วยความคดโกง                       
๘. เพราะอดกลั้นต่อผู้อื่น
                การมีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่มาข่มเหงรังแก ไม่ฉุนเฉียวเหมือนคนพาล นี่แหละจักได้ชื่อว่าเป็นคน   ใจเย็น
๙. เพราะไม่ฟังคำคนพูดเพศนินทา
                การไม่ควรฟังคนที่ชอบพูดเพ้อเจ้อเท็จจริงบ้าง เพราะเปรียบเสมือนมีดที่กรีดหรือระรานคนทั่วไป ฟังแล้วจะพาเราเข้าไปอยู่ในพวกพูดจาเหลวไหลไปด้วย
๑๐. เพราะไม่หลงเชื่อข่าวร้าย
                การไม่ควรด่วนหลงหรือตื่นเต้นกับข่าวร้ายที่มีผู้นำมาบอก ควรสืบสาวเรื่องราวที่แท้จริงก่อน                            โคลงบทสรุป  ที่กล่าวมาทั้ง ๑๐ ประการนี้ แม้จะกระทำตามได้ไม่หมดทุกข้อ กระทำได้เป็นบางข้อก็ยังดี  

โคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ
ราชสีห์กับหนู
                ไม่ควรประมาทผู้มีกำลังน้อยด้อยกว่าเรา  ว่าไม่สามารถช่วยเหลือเราได้ เพราะเราไม่รู้ได้ว่าเราจะประสบเคราะห์เมื่อไร  เผือว่าพวกเขาเหล่านั้นมาพบเห็นเราเคราะห์ร้าย คงจะมีผู้ซึ่งระลึกถึงบุญมาตอบแทนคุณเราบ้าง         
บิดากับบุตรทั้งหลาย
                ญาติพี่น้องที่ไม่รักใคร่ปรองดองกัน  มีแต่ความริษยากัน  ศัตรูก็จะมาเบียดเบียนหรือรบกวนได้ง่าย  แต่ถ้าทุกคนร่วมจิตรร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียว  ศัตรูมาเป็นหมื่นเป็นแสนก็สามารถเอาชนะได้ ทั้งนี้เพราะความพร้อมเพรียงสามัคคีกันนั่นเอง       
    
สุนัขป่ากับลูกแกะ
                ผู้ที่มีความหยาบคายดุร้ายเป็นสันดาน  คงจะหาเรื่องทำให้เราเดือดร้อนได้เสมอ  ถึงแม้ว่าเราจะพูดดีกับเขาอย่างไรก็ตาม  เขาก็คงหักเอาด้วยอำนาจตามที่เขาต้องการ                       
กระต่ายกับเต่า
                ผู้ที่มีเชื่อมั่นว่าตัวเองมีเรี่ยวแรงดี  ทั้งยังมีปัญญาหรือความคิดฉับไวที่เก่งกล้าสามารถ  หากประมาทละเลยไม่เอาใจใส่ในการงานที่กระทำก็จะทำให้งานนั้นล้มเหลวได้  ส่วนผู้ที่เชื่องช้าและโง่   ถ้ามีความมานะพยายามอย่างเต็มที่ก็จะทำให้งานนั้นสำเร็จลงได้ ดังเช่น เต่ากับกระต่ายวิ่งแข่งขัน ความเชื่องช้าของเต่าก็ยังสามารถเอาชนะความเร็วของกระต่ายได้              
ข้อคิดจากเรื่อง
. การสอนคุณธรรมให้แก่เด็กในรูปแบบของนิทานเป็นการสอนที่แยบยลเพราะทำให้เด็กซึบซาบคุณธรรมได้ง่ายขึ้น
. นิทานนอกจากจะให้ความสนุกเพลิดเพลินแล้วยังแฝงคุณธรรมต่างๆ ที่ผู้อ่านสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้
. คุณธรรมที่แฝงอยู่ในนิทานแต่งละเรื่องมีลักษณะเป็นสากลและนำมาประยุกต์ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น